การกระจายตัวของชุมชนบีซู

ชนเผ่าพื้นเมืองบีซู ที่ตั้งรกรากอยู่ในจังหวัดเชียงราย แต่เดิมนั้นถูกเรียกรวมกับกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะ หรือละว้า โดยกลุ่มคนเมือง (ไทยวน) ในพื้นที่ ซึ่งชอบดูถูกกลุ่มชนชาติพันธุ์ลัวะและบีซูในเรื่องของความสกปรก ความซื่อที่รู้ไม่เท่าทันคนเมือง จึงเป็นที่มาของการกลั่นแกล้งชาวบีซูตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ โดยมีคำพูดที่คนเมืองชอบพูดเปรียบเปรยคนในลักษณะต่อว่า “ง่าว(โง่) อย่างลัวะ ง่าวอย่างคนดอย” และมีเหตุการณ์ที่เด็กๆ บีซูไปเรียนหนังสือในโรงเรียนร่วมกับคนเมือง และถูกแกล้งเอาขนมใส่ยาเบื่อ (ยาพิษ) ให้กิน หรือตามหมู่บ้านก็มักจะมีการมาขโมยสัตว์เลี้ยง เป็นต้น (คำบอกเล่าของชาวบีซูบ้านดอยชมภู, 2559) ชาวบีซูจึงถูกคนเมืองเหมารวมเป็นคนดอยเหมือนกับคนลัวะ คนมูเซอ จึงเป็นที่มาของประวัติชาวบีซูที่มีบรรพบุรุษได้นามสกุล “วงศ์ลัวะ” และสืบมาจนถึงทุกวันนี้ แต่ชนชาติพันธุ์บีซูได้รับการจำแนกจากนักภาษาศาสตร์ว่าเป็นคนละกลุ่มกับชาติพันธุ์ลัวะในเวลาต่อมา

การตั้งถิ่นฐานอยู่ในจังหวัดเชียงรายเกือบทั้งหมด และมีการอ้างอิงถึงการตั้งถิ่นฐานในจังหวัดลำปางด้วย แต่ไม่สามารถระบุพื้นที่การตั้งถิ่นฐานได้ชัดเจนนัก (วัชรี น่วมแก้ว, 2530) โดยในจังหวัดเชียงรายนั้นมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาบีซูตั้งถิ่นฐานอยู่ 5 หมู่บ้านประกอบด้วย

    • หมู่บ้านท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย
    • หมู่บ้านดอยชมภู อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
    • หมู่บ้านลัวะบีซู อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย
    • หมู่บ้านดอยปุย ตำบลป่าอ้อดอนชัย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
    • หมู่บ้านผาแดง ตำบลดอยงาม อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย

ทั้ง 5 หมู่บ้าน วัชรี น่วมแก้ว (2530) ได้อ้างอิงไว้ในวิทยานิพนธ์เรื่อง “The Phonology of the Bisu Language as Spoken in Chiangrai Province” และจากการตรวจสอบหมู่บ้านทั้ง 5 แห่งในปัจจุบัน พบว่า หมู่บ้านท่าก๊อ ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นหมู่บ้านใด จากการบอกเล่าของแม่อุ๊ยอิ่น และพ่อหนานมงคล ชาวบีซูบ้านผาแดง ระบุว่าเคยมีบีซูที่มีความชำนาญด้านการตีเหล็กอยู่ในหมู่บ้านนี้มาก่อน โดยการตีเหล็กเป็นตะปูเพื่อใช้ในงานก่อสร้างวิหารวัด หมู่บ้านดอยชมภู ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลโป่งแพร่ อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย หมู่บ้านดอยปุย ยังคงเป็นหมู่บ้านเดิม ส่วนหมู่บ้านผาแดง เป็นหมู่บ้านบริวารของหมู่บ้านผาจ้อ หมู่ 10 ตำบลสันกลาง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ส่วนหมู่บ้านลัวะบีซู อำเภอเวียงชัยยังไม่สามารถตรวจสอบได้ โดยทางพ่ออุ่นเรือน วงศ์ภักดี ชาวบีซูบ้านดอยชมภู ให้เหตุผลว่าน่าจะเป็นจากคำบอกเล่าของคนที่ไปพบคนพูดจาภาษาใกล้เคียงกับบีซูอยู่ แต่ปัจจุบันยังหาคนกลุ่มดังกล่าวไม่พบ นอกจากนี้จากการเก็บรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมพบว่ามีหมู่บ้านบีซูดั้งเดิมอยู่อีก 1 หมู่บ้าน คือ หมู่บ้านดงตะเคียน หมู่ 10 ตำบลเจริญเมือง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย แต่ไม่มีใครพูดภาษาบีซูได้แล้วในปัจจุบัน ซึ่งแม่ของพ่ออุ่นเรือน วงศ์ภักดีเองก็เป็นบีซูเชื้อสายบ้านดงตะเคียนเช่นกัน บ้านดงตะเคียนนั้นเดิมเป็นหมู่บ้านชนเผ่าพื้นเมืองบีซูที่อยู่ติดเชิงเขาของทิวเขาดอยปุยฝั่งตะวันออก ซึ่งเป็นทิวเขาที่กั้นเขตปกครองระหว่างอำเภอเมืองกับอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ซึ่งอีกฝั่งหนึ่งเยื้องไปทางทิศเหนือของทิวเขาดอยปุยเป็นที่ตั้งหมู่บ้านบีซูปุยคำในปัจจุบัน

ชุมชนบีซูปัจจุบัน

ได้กระจายตัวแยกกันอยู่ในสามหมู่บ้าน คือ

1.บ้านดอยชมภู หมู่ 7 ต.โป่งแพร่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย

2.บ้านปุยคำ หมู่ 14 ต.แม่กรณ์ อ.เมือง จ.เชียงราย

3.บ้านผาแดง หมู่ 10 ต.

ชุมชนบีซูบ้านดอยชมภู

ชุมชนบีซูบ้านผาแดง

ชุมชนบีซูบ้านปุยคำ