ชุมชนบีซูบ้านดอยชมภู

หมู่บ้านดอยชมภูเป็นหมู่บ้านของชาวบีซูตั้งแต่ปี พ.ศ. 2470 ถึง พ.ศ. 2472 เดิมเป็นหมู่บ้านบริวารของบ้านห้วยส้านพลับพลา หมู่ 14 ตำบลแม่กรณ์ อำเภอเมือง มีนายหนึ่ง วงศ์ละ (สล่าเจ่อ) เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ต่อมาได้แยกหมู่บ้านออกจากบ้านห้วยส้านพลับพลา มีผู้ใหญ่บ้านชื่อนายตุ้ย วงศ์ลัวะ และมีผู้ใหญ่บ้านที่ดำรงตำแหน่งสืบต่อกันมาถึงปัจจุบันอีก 7 คน

หมู่บ้านบีซูดอยชมภู ปัจจุบันมีการตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มบ้านอยู่ทางทิศตะวันออกของลำห้วยชมภู ใกล้ๆ กับบริเวณที่ห้วยชมภูแง่งซ้ายและแง่งขวามาบรรจบกัน มีลักษณะที่เป็นที่ราบเนินเขาของดอยช้างที่ทอดตัวลงมาจากฝั่งตะวันตกไปสู่ฝั่งตะวันออกที่เป็นที่ราบลุ่มน้ำแม่ลาวฝั่งซ้าย บ้านเรือนมีการกระจายตัวเป็นหย่อมๆ รูปสี่เหลี่ยมที่มีการขยายตัวออกจากศูนย์กลางหมู่บ้านไปตั้งบ้านเรือนในที่ดินทำกินทั้ง 4 ทิศทาง ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าการกระจายตัวของบ้านเรือนในบ้านดอยชมพูถูกควบคุมโดยประเพณีวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับสะมาลาแกน หรือประตูหมู่บ้านที่กำหนดให้บ้านเรือนของชาวบีซูต้องสร้างอยู่ในขอบเขตของประตูหมู่บ้านดังกล่าว

ปัจจุบัน (พ.ศ. 2559) หมู่บ้านบีซูดอยชมภู มีบ้านเรือนอยู่จำนวน 53 ครัวเรือน เป็นครัวเรือนของบิฉ่ำ (คนที่ไม่ใช่บีซู) จำนวน 3 ครัวเรือน และครัวเรือนชนเผ่าพื้นเมืองบีซูจำนวน 48 ครัวเรือน เป็นประชากรบีซูรวมทั้งสิ้น 216 คน แยกเป็นประชากรชาย 106 คน และประชากรหญิง 110 คน

ประชากรในครัวเรือนบีซู มีสมาชิกที่เป็นบิฉ่ำ (บุคคลอื่นที่ไม่ใช่บีซู) รวม 24 คน เป็นชาย 8 คน และหญิง 16 คน ซึ่งบิฉ่ำที่ปรากฎอยู่ในครัวเรือนบีซูเข้ามาอยู่โดยการแต่งงานกับชายหรือหญิงเชื้อสายบีซูในหมู่บ้านนี้ ดังแสดงไว้ในภาพด้านล่าง มีครัวเรือนบีซู 18 หลังที่มีบิฉ่ำเป็นสมาชิกครัวเรือนบีซู

หมู่บ้านดอยชมพู เป็นหมู่บ้านที่ยังคงมีการรักษาวิถีวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมืองบีซูไว้อย่างหลากหลาย ทั้งทางด้านภาษาพูด ประเพณีและพิธีกรรม และการละเล่นต่างๆ และยังคงมีความเชื่อตามแบบฉบับโบราณของชาวบีซูที่สืบทอดจากบรรพบุรุษที่สำคัญคือ พิธีกรรมบูชาอั่งจาว และการนับถือปู่ตั้ง